ในหนังสือกิจการอัครสาวก นักบุญลูกากล่าวถึงนักบุญเปาโล เป็นส่วนใหญ่ ท่านบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของเปาโล การกลับใจของท่าน การถูกจองจำในกรุงโรม และแม้แต่คำปราศรัยบางเรื่องของท่าน
เมื่อพิจารณาคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเกี่ยวกับการเดินทางของเปาโล เราจะเห็นความจริงข้อหนึ่ง คือ ในทุกเมืองที่เปาโลประกาศถึงพระคริสตเจ้า ความสำเร็จของท่านจะมีความล้มเหลวปะปนอยู่ด้วยเสมอ
ที่เมืองดามัสกัส หลังจากได้กลับใจมาหาพระคริสตเจ้าแล้ว ท่านเริ่มต้น “เทศน์สอนอย่างกล้าหาญ เดชะพระนามของพระเยซูเจ้า”
(กจ 9:27) ท่าน “ทำให้ชาวยิวที่อยู่ในเมืองดามัสกัส โต้ตอบไม่ได้ เพราะเซาโล พิสูจน์ได้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า” แต่คนเหล่านี้แค้นเคืองท่านมากจน “วางแผนจะฆ่าท่าน” (กจ 9:22-23)
ในกรุงเยรูซาเล็ม “เซาโลอยู่กับบรรดาศิษย์ ... เทศน์สอนอย่างกล้าหาญ เดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาพูดและโต้เถียงกับชาวยิวที่พูดภาษากรีก แต่คนเหล่านี้พยายามจะฆ่าเขา” (กจ 9:28-29)
ที่ไซปรัส ท่านพบกับประกาศกเท็จเทียมชาวยิวคนหนึ่ง ชื่อบาร์เยซู ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า เอลีมัส ซึ่งพยายามล่อหลอกผู้ว่าราชการ ชื่อเซอร์จีอัส เปาลัส มิให้มีความเชื่อ (เทียบ กจ 13:8)
ในศาลาธรรมที่เมืองอันทิโอก ในแคว้นปิสิเดีย เปาโล และบารนาบัส ได้รับเชิญให้กล่าว “ถ้อยคำเตือนใจประชาชน” เปาโลได้แสดงให้เห็นว่า "พระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลาน โดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนม์ชีพจากบรรดาผู้ตาย” คำเทศน์สอนนี้เป็นเหตุให้ “ชาวยิว และผู้ที่กลับใจมาเลื่อมใสศาสนายิวหลายคนเดินตามเปาโล และบารนาบัส” (กจ 13:15, 32-33, 43) ในวันสับบาโตต่อมา ธรรมทูตทั้งสองได้รับเชิญให้เทศน์สอนอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ได้ผลต่างกัน “เมื่อชาวยิวเห็นประชาชนมากมายเช่นนี้ก็เกิดความอิจฉาอย่างมาก จึงคัดค้านคำพูดของเปาโล และด่าว่าเขา เปาโล และบารนาบัส ตอบเขาอย่างกล้าหาญว่า ‘จำเป็นที่เราต้องประกาศพระวาจาของพระเจ้าให้ท่านฟังก่อนผู้อื่น แต่เมื่อท่านปฏิเสธไม่ยอมรับ และไม่คิดว่าตนเหมาะสมจะรับชีวิตนิรันดร เราจึงหันไปหาคนต่างศาสนา ...’ แต่ชาวยิว ยุยงบรรดาสตรีชั้นสูงที่เลื่อมใสในศาสนายิว และบรรดาผู้นำของเมืองให้เบียดเบียนเปาโล และบารนาบัส และขับไล่ทั้งสองคนออกไปจากดินแดนของตน” (กจ 13:44-50)
การเทศน์สอนของเปาโล และบารนาบัส ก็ได้ผลสองด้านในหมู่ชาวยิว ที่เมืองอิโคนียุม “เขาพูดได้ดีจนชาวยิว และชาวกรีกจำนวนมากมีความเชื่อ แต่ชาวยิวคนอื่นที่ไม่มีความเชื่อยุยงคนต่างศาสนาให้มีจิตใจเป็นอริต่อบรรดาพี่น้อง แม้กระนั้น เปาโลและบารนาบัสก็ยังคงอยู่ที่นั่นต่อไปอีกระยะหนึ่ง พูดอย่างกล้าหาญเดชะองค์พระผู้เป็นเจ้า” แต่ในที่สุด ศัตรูของท่านทั้งสองก็เป็นฝ่ายชนะ “เมื่อคนต่างศาสนา และชาวยิวร่วมกับบรรดาผู้ปกครองเมืองวางแผนจะทำร้ายและใช้ก้อนหินขว้างเปาโลและบารนาบัส ทั้งสองคนรู้เรื่องจึงหลบหนีไปที่เมืองลิสตรา.. ในแคว้นลิคาโอเนีย” (กจ 14:1-6)
ที่เมืองลิสตรา หลังจากเปาโลรักษาคนง่อยให้หายแล้ว “ชาวยิวบางคนมาจากเมืองอันทิโอก และเมืองอิโคนิยุม เกลี้ยกล่อมประชาชนให้เป็นฝ่ายของตนได้ เขาเหล่านั้นใช้ก้อนหินขว้างเปาโล และลากออกไปนอกเมือง เพราะคิดว่าเปาโลตายแล้ว” (กจ 14:19)
ที่เมืองฟิลิปปี สตรีคนหนึ่งชื่อ ลิเดีย ซึ่งเป็นคนขายผ้ากำมะหยี่สีม่วงแดง ได้กลับใจ และเชิญเปาโล และสิลาส ให้ไปพักที่บ้านของเธอ เปาโลขับไล่ปีศาจออกจากทาสหญิงคนหนึ่ง ซึ่ง “ทำนายอนาคตได้ ทำให้นายของนางมีรายได้มากมายจากการทำนาย” เมื่อนายของทาสหญิงนั้นเห็นว่าหมดโอกาสที่จะหารายได้จากทาสของตนแล้ว จึงจับกุมเปาโล และสิลาส นำตัวไปขึ้นศาล และกล่าวหาว่าเขาเทศน์สอนขนบธรรมเนียมผิด ๆ ทั้งสองคนถูกเฆี่ยนตี และขังคุก ต่อมา ผู้พิพากษาที่ลงโทษเขามาขอโทษ เนื่องจากทั้งสองไม่ควรถูกเฆี่ยน เพราะเป็นพลเมืองโรมัน” (กจ 16:14-39)
หลังจากประสบกับความล้มเหลว และถูกจำคุกในฟิลิปปี เปาโล และสิลาส จึงเดินทางมาถึงเมือง เธสะโลนิกา ซึ่งการเทศน์สอนของท่านประสบความสำเร็จ “ชาวยิวบางคนเห็นพ้องด้วย และสมัครใจเข้าร่วมกลุ่มกับเปาโล และสิลาส ชาวกรีกจำนวนมากที่เลื่อมใสศาสนายิว รวมทั้งสตรีชั้นสูงหลายคนก็เข้ามาร่วมกลุ่มกับเขาทั้งสองด้วย” เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวยิวอิจฉา “จึงจ้างคนพาลจากลานสาธารณะจำนวนหนึ่ง ให้ร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในเมือง” เขาลากตัวธรรมทูตทั้งสองไปอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษา และกล่าวหาว่าทั้งสองได้ฝ่าฝืน “กฎของพระจักรพรรดิ” ทุกข้อ เพราะ “อ้างว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งชื่อเยซู” เมื่อท่านได้จ่ายเงินค่าประกันตัวแล้ว ท่านก็ถูกปล่อยตัว (กจ 17:4-9 เทียบ 1 ธส 2:14) ในจดหมายถึงชาวเธสะโลนิกาฉบับแรก เปาโลเล่าว่า “ท่านย่อมรู้แล้วว่า ก่อนหน้านั้น เราต้องทนทุกข์ และถูกสบประมาทต่าง ๆ ที่เมืองฟีลิปปี แต่ด้วยเดชะพระเจ้า เราจึงกล้าประกาศข่าวดีของพระองค์แก่ท่าน ทั้ง ๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย” (1 ธส 2:2)
ที่เมืองเบโรอา ชาวเมืองนี้ยอมรับข่าวดีด้วยความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง แต่ชาวยิวในเมืองเธสะโลนิกาเดินทางไปที่นั่น “เพื่อปลุกระดม และก่อกวนประชาชน” ทำให้เปาโล ต้องออกเดินทางไปกรุงเอเธนส์ (เทียบ กจ 17:11-15)
ชาวเอเธนส์แสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ กันต่อคำปราศรัยของเปาโล ต่อหน้าอภิรัฐสภา บ้างคิดว่าท่านเป็นนักต้มตุ๋น และ “พูดหว่านล้อมให้คนเชื่อเรื่องพระของคนต่างชาติ” บางคนหัวเราะเยาะ บางคนพูดว่า “รอไว้ฟังเรื่องนี้จากท่านในคราวหน้าก็แล้วกัน” แต่ “บางคนก็ยังติดตามเปาโล และมีความเชื่อ” (เทียบ 17:18, 32-34)
เมื่อชาวยิว ในเมืองโครินธ์ ได้ยินเปาโลประกาศว่าพระเยซูคือพระคริสตเจ้า “ชาวยิวเหล่านั้นต่อต้าน และพูดดูหมิ่นพระเจ้า ... และช่วยกันจู่โจมจับเปาโล และนำเขาไปขึ้นศาล” (กจ 18:5-6, 12) พระเยซูเจ้าทรงปลอบโยนเปาโล ในนิมิตว่า “อย่ากลัว จงพูดต่อไป อย่าเงียบเลย เพราะเราสถิตอยู่กับท่าน ไม่มีใครกล้าทำร้ายท่าน เพราะหลายคนในเมืองนี้เป็นประชากรของเราแล้ว” (กจ 18:9-10)
ที่เมืองเอเฟซัส “เปาโลเข้าไปในศาลาธรรมและเทศน์สอนอย่างกล้าหาญตลอดเวลาสามเดือน ใช้เหตุผลหว่านล้อมผู้ฟังให้เชื่อเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า แต่บางคนกลับดื้อรั้น ไม่ยอมเชื่อและยังกล่าวร้ายต่อคำสอนนี้ต่อหน้าที่ประชุม เปาโลจึงแยกไปจากพวกเขา นำบรรดาศิษย์ไปด้วย เขายังถกเถียงกันต่อไปทุกวันในห้องประชุมของชายคนหนึ่งชื่อไทรันนัส เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้เป็นเวลาสองปี จนกระทั่งทุกคนที่อยู่ในแคว้นอาเซีย ทั้งชาวยิวและชาวกรีก ต่างก็ได้ฟังพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กจ 19:8-10)
แม้เปาโลได้ทำอัศจรรย์มากมายขณะที่อยู่ในเมืองเอเฟซัส (เทียบ กจ 19:11-12) ช่างเงินกลัวว่าคำเทศน์สอนของท่านจะทำให้เขาไม่สามารถขายรูปจำลองพระวิหารของเทพีอาร์เทมิส จึงสมคบกัน และบีบบังคับให้เปาโล ออกเดินทางไปยังแคว้นมาซิโดเนีย (เทียบ กจ 19:23-20:1) ต่อหน้าผู้อาวุโสของพระ ศาสนจักรเอเฟซัส ซึ่งมาพบท่านที่เมืองมิเลทัส เปาโล สารภาพว่า “ข้าพเจ้ารับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความถ่อมตนอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องร่ำไห้เป็นทุกข์ และเสี่ยงชีวิตจากการที่ชาวยิว วางแผนปองร้ายข้าพเจ้า” (กจ 20:19)
ระหว่างเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อเรือของท่านมาถึงเมืองไทระ และบรรดาศิษย์แนะนำไม่ให้ท่านเดินทางไปยังเยรูซาเล็ม เพราะ “ชาวยิวจะมัดมือมัดเท้าท่าน และจะมอบท่านในเงื้อมมือของคนต่างศาสนา” คำตอบของเปาโลแสดงให้เห็นความกล้าหาญอย่างชัดเจน “ทำไมท่านจึงร้องไห้ และทำให้ข้าพเจ้าเสียใจและผิดหวังมากเล่า ข้าพเจ้าไม่เพียงแต่พร้อมที่จะถูกจองจำเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะตายในกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อพระนามของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าอีกด้วย” (กจ 21:4, 11-13)
และก็เป็นไปตามความคาดหมาย ชาวยิวในอาเซีย ได้ยุยงประชาชนในกรุงเยรูซาเล็ม และ “พยายามจะฆ่าเปาโล” ท่านรอดชีวิตเพราะผู้บัญชาการกองพันของกองทัพโรมัน “เข้ามาจับกุม และสั่งให้ล่ามท่านด้วยโซ่สองเส้น” (กจ 21:31-33) คำบอกเล่าของเปาโล เรื่องกระแสเรียก และคำอธิบายเกี่ยวกับการแพร่ธรรมของท่าน ทำให้ชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มโกรธแค้นมาก พวกเขาเรียกร้องให้ทหาร “กำจัดผู้นี้ให้สิ้นไปจากแผ่นดิน เขาไม่สมควรมีชีวิต” สัญชาติโรมันของท่านช่วยให้ท่านรอดพ้นจากการถูกเฆี่ยน แต่ท่านต้องปรากฏตัวต่อหน้าสภาซันเฮดริน มหาสมณะอานาเนีย สั่งคนรับใช้ของเขาให้ตบปากเปาโล แต่ท่านกล่าวปกป้องการเลือกความเชื่อทางศาสนาของท่านอย่างกล้าหาญว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าประพฤติตนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าด้วยมโนธรรมที่บริสุทธิ์มาจนถึงวันนี้” การพูดถึงการกลับคืนชีพทำให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงระหว่างชาวฟาริสี และชาวสะดูสี ผู้บัญชาการกองพันกลัวว่าท่านจะถูกทำร้าย จึงให้นำเปาโลเข้าไปในค่ายทหารของกรุงเยรูซาเล็ม แต่ชาวยิวยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาประมาณ 40 คน “ประชุมคบคิดกัน และสาบานว่าจะไม่กินไม่ดื่มจนกว่าจะได้ฆ่าเปาโล” (เทียบ กจ 22-23:21)
แม้ในสถานการณ์เช่นนี้ พระวจนาตถ์ไม่ทรงทอดทิ้งเปาโล ในยามทุกข์ยาก พระองค์ทรงปลอบโยนท่านว่า “จงกล้าหาญ เจ้าได้เป็นพยานยืนยันถึงเราที่กรุงเยรูซาเล็มอย่างไร เจ้าจะต้องเป็นพยานที่กรุงโรมอย่างนั้นด้วย”(กจ 23:11)
เพื่อมิให้เปาโลตกอยู่ในมือของผู้ที่คิดฆ่าท่าน ผู้บัญชาการกองพันจึงให้ทหารควบคุมตัวท่านไปยังเมืองซีซารียา ท่านถูกจำคุกในที่นั้นนาน 2 ปี แม้ว่าได้มีการเสนอคดีของท่านให้ผู้ว่าราชการ ชื่อเฟลิกซ์ พิจารณาแล้วก็ตาม (เทียบ กจ 23:23-24, 27)
เนื่องจากนักบุญเปาโลเป็นพลเมืองโรมัน ท่านจึงขออุทธรณ์ต่อจักรพรรดิ (เทียบ กจ 25:11-12) เนื่องจาก “การส่งนักโทษไปรับการพิจารณาคดี (ในกรุงโรม) โดยไม่ชี้แจงข้อกล่าวหาดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ” (กจ 25:27) ท่านจึงถูกนำตัวมาอยู่ต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา ซึ่งท่านได้กล่าวปกป้องตนเอง “อย่างตรงไปตรงมา” (กจ 26:26)
หลังจากได้รอดชีวิตจากการเดินทางหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์เรืออับปาง (เทียบ กจ 27:9-43) เปาโลมาถึงกรุงโรม ที่ซึ่งท่านได้รับการต้อนรับจากพี่น้องในความเชื่อ ท่าน“ขอบคุณพระเจ้า และมีกำลังใจดีขึ้น” (กจ 28:15) ที่เมืองนี้ เช่นเดียวกับในอดีต (กจ 13:5) ท่านได้เทศน์สอนข่าวดีแก่ชาวยิวก่อน “บางคนยอมเชื่อถ้อยคำของเปาโล บางคนไม่ยอมเชื่อ” (กจ 28:17, 24)
ความแตกแยกในหมู่ชาวยิวเป็นหัวข้อที่เปาโลเทศน์สอนบ่อยครั้ง (เทียบ กจ 14:1-2; 17:2-5; 18:5-6; 19:8-9; 23:9-10) บัดนี้ ถึงเวลาจะยุติปัญหานี้แล้ว ท่านอัครสาวกอ้างถึงประกาศกอิสยาห์ ผู้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าชนชาติเดียวกับท่านจะไม่ยอมเปิดหูเปิดตารับฟัง (เทียบ อสย 6:9-10) ท่านจึงประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า ชาวยิวจะไม่ได้รับความรอด แต่คนต่างศาสนาจะได้รับเลือก (เทียบ กจ 28:28) ดังเช่นที่ท่านเคยประกาศที่เมืองอันทิโอก ในแคว้นปีสิเดีย (เทียบ กจ 13:46-47)
เมื่ออยู่ในกรุงโรม เปาโลได้รับอนุญาตให้พักในบ้านเช่าหลังหนึ่งเป็นเวลาสองปีเต็ม โดยมีทหารคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุม และ “ประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า และสอนความจริงเรื่องพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างกล้าหาญ
โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ” (กจ 28:16, 30-31)
ดังนั้น นักบุญลูกาจึงสรุปว่าพระวรสารได้ถูกประกาศ เริ่มต้นจากกรุงเยรูซาเล็ม ไป “จนถึงสุดปลายแผ่นดิน” (กจ 1:8) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของท่าน ที่เกริ่นไว้ตั้งแต่เริ่มต้นหนังสือกิจการอัครสาวก ได้กลายเป็นความจริงแล้ว และท่านเสนอว่า เปาโลเป็นแบบฉบับอันสูงสุดของการแพร่ธรรมอย่างกล้าหาญ และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย |